ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา
ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา
:: เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2463
:: ที่กรุงเทพมหานคร
:: มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน เป็นบุตรคนที่ 7 ของนายผัน-นางเจิม พันธุเมธา
:: เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่อายุเพียง 5 ปี ที่โรงเรียนหุตะวณิช
จนจบชั้นประถมปีที่ 2 เมื่อย่างเข้า 8 ปี จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเสาวภาซึ่งอยู่ติดกับบ้าน
คุณบรรจบเรียนวิชาภาษาอังกฤษได้ดีและสนใจการฝีมือมาก
ต่อมาเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ใน พ.ศ.2476 ได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ท่านสอบได้ที่ 1
และมีผลการเรียนเป็นอันดับที่ 1 ตลอดมา
ยกเว้นภาคเรียนแรกภาคเรียนเดียวเท่านั้นที่ได้อันดับ 2
กระทั่งสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 ใน พ.ศ.2478
  

คุณบรรจบต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ช่วงนั้นคุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ก็ไม่มีรายได้ประจำ ท่านรู้สึกกังวลมาก ภายหลังน้าสาวทราบข่าวก็สนับสนุนเต็มที่ และรับปากว่าถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จะช่วยเหลือส่งเสียให้ก่อน คุณบรรจบตั้งใจท่องหนังสือเตรียมตัวสอบกระทั่งสามารถสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใน พ.ศ.2479 ได้เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 5 หลังจากสำเร็จปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ได้เข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) ใน พ.ศ.2483 ตามหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะอยากเป็นครู และเมื่อสอบได้ประกาศนียบัตรครูมัธยมก็ได้สมัครสอบที่กระทรวงศึกษาธิการ และได้เข้าทำงานที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ในชั้นมัธยมปลาย

จากนั้นในปี พ.ศ.2485 ได้เข้าศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ.2487 นับเป็นมหาบัณฑิตรุ่นที่ 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่างที่ศึกษา ท่านได้ค้นคว้าและทำวิทยานิพนธ์เรื่อง คำบาลีสันสกฤตที่ใช้ในภาษาไทย โดยพระยาอนุมานราชธนรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้
     

ภายหลังเมื่อสงครามสงบได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาเรียงความ หลักภาษาไทย และจิตวิทยา สอนอยู่ได้ 5 ปี ก็ได้ทุนวัฒนธรรมสัมพันธ์ของรัฐบาลอินเดียร่วมกับทุนรัฐบาลไทยให้ไปศึกษาต่อที่เมืองพาราณสีใน พ.ศ.2492 ใช้เวลา 3 ปี ก็สำเร็จได้รับอนุปริญญาทางภาษาฮินดี และปริญญาดุษฎีบัณฑิต ทางวิชานิรุกติศาสตร์ ในแขนงนิรุกติศาสตร์เปรียบเทียบ ภาษาสันสกฤตไทย ในปี พ.ศ.2495 วิทยานิพนธ์ที่เขีนนชื่อ Observations on Indo-Siamese Glossary อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ Dr. Suniti Kumar Chatterji เมื่อกลับจากอินเดีย คุณบรรจบได้เข้าราชการที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมตามเดิม ซึ่งต่อมาใน พ.ศ.2500 ได้รับการเลื่อนฐานะเป็นวิทยาลัยครูจันทรเกษม และ พ.ศ.2502 ได้ย้ายสถานที่ซอยสังขวัฒนะ ถนนลาดพร้าว ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน ถนนลาดพร้าวในสมัยนั้นยังมีบ้านเรือนไม่มากนัก วิทยาลัยจันทรเกษมตั้งอยู่กลางทุ่ง จากปากซอยเข้าไปมีทางเลี้ยวไปเลี้ยวมา ต้องเลี้ยวถึง 7 เลี้ยว จึงจะถึงมหาวิทยาลัย ที่วิทยาลัยครูจันทรเกษมนี้ คุณบรรจบได้สอนวิชาภาษาไทยและจิตวิทยา และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ ตั้งแต่ พ.ศ.2502 - 2508 ทั้งเคยได้รับมอบหมายให้รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ประมาณครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2502 นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติกิจกรรมพิเศษในด้านการศึกษาอีกหลายอย่าง เช่น เป็นผู้จัดการบรรยายวิชาภาษาไทย ครูมูล ครูประถม และครูมัธยม ซึ่งคุรุสภาจัดขึ้น ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2497 และเป็นผู้อำนวยการในการอบรมวิชาภาษาไทย ชุดครูมัธยม ในนามวิทยาลัยครูจันทรเกษมซึ่งได้รับมอบหมายจากคุรุสภาให้จัดขึ้นที่โรงเรียนศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2503

คุณบรรจบได้รับยกย่องว่า เป็นครูที่สอนดี ดังที่ศาสตราจารย์ซ่อนกลิ่น พิเศษสกลกิจ เพื่อนของท่านเล่าว่า...คุณบรรจบมีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีและสันสกฤต เขมร มอญ จีน และภาษาถิ่นโดนเฉพาะ นอกจากจะแม่นในหลักวิชาแล้ว ยังรู้จิตวิทยาดี มีกลวิธีสอนดี อธิบายได้ชัดเจนแจ่มแจ้งกว้างขวางและละเอียดลออ ทั้งยังเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา พยายามเสาะแสวงหาอุปกรณ์มาประกอบการสอน เช่น วิชาจิตวิทยาที่ว่าด้วยภาคสรีระ ก็เสาะหาโครงกระดูกมาตั้งไว้ให้นักเรียนศึกษา คุณบรรจบเตรียมการสอนเป็นอย่างดี ทุกครั้งก่อนเข้าสอน เวลาสอนจึงไม่ต้องมีโน้ตช่วยจำเหมือนอาจารย์ท่านอื่นๆ ซึ่งเป็นอัศจรรย์ใจ ชื่นชม และประทับใจของนักเรียนมาก นอกจากนี้ยังเป็นคนคุยสนุกเขียนสนุก สอนสนุก ทั้งๆ ที่สอนวิชายากนั้น จึงมีเสียงฮาจากห้องเรียนเป็นระยะๆ เป็นผู้มีความจำยอดเยี่ยม โดยเฉพาะจำชื่อนักเรียนได้รวดเร็วและแม่นยำเสมอ แม้คุณบรรจบจะคุยสนุก สอนสนุก มีอารมณ์ขันและเจ้าคารม คมคาย แต่ก็เป็นคนเข้มแข็งเข้มงวด กวดขันในเรื่องระเบียบวินัยและทุกเรื่องย่อมไม่ให้ความผิดพลาดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้หรือความประพฤติผ่านเลยไป โดยไม่ได้รับการแก้ไข และตักเตือนสั่งสอน จึงได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ที่ดุที่สุดในโรงเรียน จนมีคำกล่าวขานในบรรดาศิษย์ว่าใครมาเรียน ป.ม. หลังกระทรวงแล้ว ไม่เคยถูกอาจารย์บรรจบดุเห็นจะต้องไปรดน้ำมนต์ นักเรียนบางคนขวัญอ่อนหน่อย เมื่อถูกเรียกให้ตอบ ถึงกับตัวสั่นและหัวใจเต้นโครมคราม แต่คุณบรรจบมีคำดุแปลกๆเมื่อถูกดุ เด็กบางคนจึงรู้สึกขันแทนที่จะโกรธ คุณบรรจบมีไหวพริบดีโต้ตอบฉับไว เมื่อถูกถามคำถามที่เรียกว่า “กวน” ก็โต้กลับทันควัน ให้เป็นที่เฮฮากันบ่อยๆ ชั่วโมงของคุณบรรจบ จึงเป็นชั่วโมงที่นักเรียนตื่นตัว ตาสว่าง หลับไม่ลง มิฉะนั้นจะถูกชี้ถามรายตัว นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ซ่อนกลิ่นยังให้สัมภาษณ์ถึงความผูกพันของอาจารย์บรรจบที่มีต่อ วิทยาลัยครูจันทรเกษม แห่งนี้ว่า อาจารย์บรรจบรักโรงเรียนมาก ผูกพันมาก อยู่บ้านพักโรงเรียน ดูแลตลอด ต่อมาผู้ใหญ่หวังดีให้ย้ายไปอยู่ประสานมิตร ได้ตำแหน่งดีอาจารย์ไม่ยอมไปในที่สุดก็ลาออกจากราชการ ไปค้นคว้าทำงานส่วนตัวไปจีน ไปพม่า เขียนหนังสือลงสตรีสารจนโด่งดัง เป็นคนรักโรงเรียนมาก

พ.ศ.2498 ได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชีย ร่วมกับทุนของสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย เดินทางไปศึกษาภาษาไทของชาวอาหม ที่รัฐอัสสัม แต่ต้องผิดหวังเพราะไม่พบชาวไทที่พูดภาษาอาหมตามที่ตั้งใจ อย่างไรก็ตามได้มีโอกาสพบชาวไทอีกหลายกลุ่ม ได้แก่ ชาวไทพาเก่ ชาวไทอ่ายตน ชาวไทคำตี่ เป็นต้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีโอกาสกลับไปรัฐอาหมเพื่อศึกษาภาษาไทเหล่านั้นอีกถึง 6 ครั้ง ภายหลังยังขยายขอบเขตการศึกษาภาษาไทเพิ่มเติม โดยเดินทางไปศึกษาและสอบภาษากับกลุ่มชนชาติไทหลายกลุ่มอีกหลายครั้งทั้งในพม่า เวียดนาม ชาวมอญ ชาวไทใหญ่ ชาวไทเมา ชาวไทคำตี่ ชาวไตเมิ้งยาง และชามสามก๊าที่ประเทศพม่า ชาวไทลื้อและชาวไทเหนือที่ประเทศจีน นอกจากนี้ยังเดินทางไปศึกษาภาษาเขมรและภาษาจามในประเทศกัมพูชาด้วย

พ.ศ.2505 ได้รับทุนจากมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ ไปฟังคำบรรยายวิชาการด้านภาษาศาสตร์และศึกษาภาษาจีน ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัยวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี

พ.ศ.2507 ไปศึกษาภาษาจีนกลางด้วยทุนส่วนตัวที่ไต้หวัน เป็นเวลา 8 เดือน กระทั่งในปี พ.ศ.2508 อายุได้ 45 ปี จึงได้ลาออกจากราชการ และเข้าทำงานที่วิทยาลัยพัฒนาซึ่งเป็นวิทยาลัยเอกชน โดยได้รับเชิญให้เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์แต่ภายหลังวิทยาลัยต้องปิดตัวลงเพราะเจ้าของวิทยาลัยประสบปัญหาทางการเงิน

พ.ศ.2514 - 2580 ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนวิชาภาษาไทย และภาษาต่างประเทศในไทย เป็นเวลา 6 ปี เมื่ออายุมากขึ้นจึงขอหยุดสอน เพื่อจะได้มีเวลาทำงานค้นคว้าที่ท่านสนใจได้เต็มที่ คุณบรรจบถึงแก่กรรมด้วยโรคลำไส้อุดตัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2535 สิริอายุรวม 72 ปี คุณวุฒิพิเศษ

พ.ศ.2520 ได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ.2522 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง รางวัลและเกียรติยศ

พ.ศ.2529 ได้รับพระเกี้ยวทองคำ ในฐานะผู้เผยแพร่ภาษาไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ.2530 ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาปรัชญา จากสภาวิจัยแห่งชาติ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น “จตุตถจุลจอมเกล้า”

พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น “ตติยจุลจอมเกล้า”

    
ผลงานวิชาการ

มีผลงานมากมายทั้งที่เป็นหนังสือ ตำราเรียน บทความ และงานเขียนอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวรรณคดีไทย ดังเช่น
1.ลักษณะภาษาไทย พิมพ์ที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2505
2.ภาษาต่างประเทศในไทย พิมพ์ที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2516
3.บาลีสันสกฤตในภาษาไทย พิมพ์ที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2517
4.พจนานุกรมเขมร - ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน พิมพ์ที่ รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์
   เล่ม 1 - 5 พ.ศ.2528
5.พจนานุกรมมอญ - ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน พิมพ์ที่ รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์
   เล่ม 1 พ.ศ.2531
6.พจนานุกรมภาษาพ่าเก่ - ไทย - อังกฤษ พ.ศ.2533 (ไม่พิมพ์จำหน่าย)
7.พจนานุกรมอ่ายตอน - ไทย - อังกฤษ (ยังไม่ได้จัดพิมพ์)
 

8.กาเลหม่านไต สมาคมภาษาและหนังสือ จัดพิมพ์ พ.ศ.2504
9.กาเลหม่านไตในรัฐชาน คณะอนุกรรมการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์ พ.ศ.2526
10.ไปสอบคำไทย คณะกรรมการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทย กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ พ.ศ.2522
11.บทความวิชาการเรื่อง อันเนื่องด้วยชื่อ ชื่อพม่ารามัญ ชื่อไทยน้อยใหญ่ ชื่อแขกฝรั่ง จีน จาม ตีพิมพ์ในสตรีสาร พ.ศ.2516
12.บทความวิชาการเรื่อง ไมตรีทางภาษาเขมร - ไทย ตีพิมพ์ในสตรีสาร พ.ศ.2501
13.บทความวิชาการเรื่อง คำไท -ไทย ภาษาพ่าเก่ ภาษาอ่านตอน ตีพิมพ์ในสตรีสาร พ.ศ.2519 - 2520
14.บทความวิชาการเรื่อง เขมร - ไทย ตีพิมพ์ในสตรีสาร พ.ศ.2522
15.บทความวิชาการเรื่อง คนไท - ไทย ตีพิมพ์ในสตรีสาร พ.ศ.2524 - 2526
16.บทความวิชาการเรื่อง อันเนื่องด้วยวัฒนธรรม ตีพิมพ์ในสตรีสาร พ.ศ.2527 - 2528
17.บทความวิชาการเรื่อง คำไทย - คำถิ่น หนูไหน่ ตีพิมพ์ในวารสารภาษาและวรรณคดีไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2527
18.บทความวิชาการเรื่อง จริง - ทำไมจึงมี ร ตีพิมพ์ในวารสารภาษาและวรรณคดีไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 ธัวาคม 2529
19.บทความวิชาการเรื่อง อาหม ตีพิมพ์ในวารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (ต.ค.- ธ.ค.2530)
20.บทความวิชาการเรื่อง อันเนื่องด้วยคำต้องห้าม ตีพิมพ์ในวารสารภาษาและวรรณคดีไทย ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2532